แพ็กเกจจิ้งไทยโตกระฉูด อานิสงส์อีคอมเมิร์ซ-EEC

อัปเดตล่าสุด 18 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 453 Reads   

ส.แพ็กเกจจิ้งไทยมั่นใจอานิสงส์ลงทุน EEC อีคอมเมิร์ซ-อาหาร-เครื่องดื่ม ดันอุตสาหกรรมนี้ปี”62 โต 20% แนะเอกชนยกเครื่องบรรจุภัณฑ์รับเทคโนโลยีการพิมพ์ยุคใหม่

นายมานิตย์ กมลสุวรรณ นายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ยังมีโอกาสขยายตัวไม่ต่ำกว่า 20% ในปีนี้ จากนโยบายกระตุ้นการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งน่าจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ ประกอบกับภาครัฐส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มาช่วยหนุนอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อีกทั้งพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มสินค้าและเครื่องดื่ม จึงทำให้อุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ยังคงเติบโตได้ดี

“ไทยนับว่าเป็นตลาดการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดเอเชีย-แปซิฟิกโดยมีสัดส่วนรายได้สูงถึง 42% คาดว่าความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์จะสูงถึง 40% ในปี 2565 โดยในปัจจุบันอุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์มีกำลังการผลิตในประเทศสูงถึง 5.83 ล้านตัน แบ่งสัดส่วนวัสดุการผลิตจากกระดาษ 37.74% แก้ว 30.05%

พลาสติก 24.34% และโลหะ 7.87% ดังนั้น ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ผลิตในประเทศควรต้องปรับทิศทางธุรกิจให้ทันสถานการณ์และความท้าทายจากเทคโนโลยีการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ดิจิทัล เพราะบรรจุภัณฑ์ไม่เพียงจะช่วยถนอมคุณภาพ ยืดอายุการเก็บรักษาของอาหารให้มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล แต่ยังช่วยให้สินค้าผลิตภัณฑ์เป็นที่น่าดึงดูด ลดต้นทุน และตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่อีกด้วย”


อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ บล็อกเชน เอไอ จะเป็นสิ่งที่ท้าทายธุรกิจอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลจากเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับให้สอดรับกับดีมานด์และพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงไทยต้องเร่งยกระดับการออกแบบร่วมกับสถาบันการศึกษา เพื่อวิจัยพัฒนาควบคู่ไปด้วย เพราะคาดว่าภายใน 10 ปี อุตสาหกรรมนี้จะมีการพัฒนาครั้งใหญ่และประเทศคู่แข่งเริ่มพัฒนาสินค้าและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

“แม้ว่าไทยจะเป็นฐานผลิต มีการลงทุนเติบโตต่อเนื่อง แต่อุตสาหกรรมนี้ต้องปรับอย่างมาก โดยเฉพาะสิ่งที่น่าห่วง คือ นวัตกรรมที่เรายังไม่มี เราต้องออกแบบให้เข้ากับพฤติกรรมคนยุคใหม่ด้วย เช่น อาหารต้องเปิดง่าย สะดวก นั่นคือหัวใจการออกแบบแพ็กเกจจิ้งอาหารในวันนี้ เราต้องสร้างความเข้าใจร่วมกับสถาบันเพื่อปรับออกแบบโครงสร้างใหม่ เพราะมันไปเชื่อมโยงแพ็กเกจจิ้งเอ็นจิเนียริ่งดีมานด์ จำเป็นต้องเรียนรู้พื้นฐานการออกแบบวิศวกรรมบรรจุภัณฑ์ให้มากกว่านี้ นี่เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากหากเราไม่พัฒนาศักยภาพอาจเสียท่าคู่แข่งได้ 30 ปีที่แล้ววิชานี้ไม่มีในบ้านเรา แต่วันนี้เราจำเป็นต้องมี”